ไขมันในเลือดสูง ภัยร้ายอันตรายใกล้ตัว

ไขมันในเลือดสูง เป็นต้นกำเนิดของโรคต่าง ๆ อีกมากมาย เพราะระดับไขมันในเลือดมีความสำคัญต่อการเกิดหลอดเลือดตีบตัน โดยปกติแล้วอาการไขมันในเลือดสูงจะพบกับคนที่อยู่ในสังคมเมืองเป็นส่วนใหญ่ ด้วยลักษณะการใช้ชีวิตที่ไม่ค่อยมีเวลาว่างในการออกกำลังกาย หรือชอบทานอาหารประเภทเนื้อสัตว์ อาหารที่เน้นให้พลังงานสูง จนอาจจะทานผักผลไม้ในปริมาณน้อย ในปัจจุบันแนวโน้มของการเกิดไขมันในเลือดสูงพบในผู้ที่มีอายุน้อยลงเรื่อย ๆ ดังนั้นไขมันในเลือดสูงจึงถือเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวกับทุกเพศทุกวัย หากปล่อยทิ้งไว้อาจเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจขาดเลือด สมองขาดเลือด รวมไปถึงเป็นอัมพฤกษ์หรืออัมพาตได้
เช็คหน่อย ! เราเข้าข่ายไขมันในเลือดสูงหรือไม่

ภาวะไขมันในเลือดสูง คือ ภาวะที่ร่างกายมีค่าระดับไขมันในเลือดสูงเกินเกณฑ์มาตรฐาน ในการการแพทย์ได้กำหนดค่าของไขมันไว้ดังนี้
1. ระดับคอเลสเตอรอลรวมสูง(Total Cholesterol, TC) ค่าปกติ ต่ำกว่า 200 มล./ดล.
คอเลสเตอรอล คือไขมันที่ร่างกายสามารถสังเคราะห์ขึ้นได้เองจากตับและลำไส้ หรือได้รับจากสารอาหารที่รับประทานเข้าไป ปริมาณไขมันขึ้นอยู่กับชนิดของอาหาร พบมากในไขมันสัตว์ พบน้อยในพืช ถึงแม้ว่าคอเลสเตอรอลจะมีความสำคัญต่อร่างกายมาก เพราะเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของเซลล์ต่าง ๆ โดยเฉพาะเซลล์สมอง แต่หากมีมากเกินไป ไขมันจะไปสะสมอยู่ตามผนังหลอดเลือดแดงทั่วร่างกาย ซึ่งจะส่งผลให้เกิดโทษต่อร่างกายตามมาในอนาคต ซึ่งคอเลสเตอรอลรวมสามารถแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่ HDL และ LDL ดังจะกล่าวในข้อถัดไป

2. ระดับ Low Density Lipoprotein-Cholesterol (LDL-C) ค่าปกติ ต่ำกว่า 100 มล./ดล.
Low Density Lipoprotein-Cholesterol (LDL-C) หรือเรียกง่าย ๆ ว่า คอเลสเตอรอลที่ไม่ดี ร่างกายเป็นตัวสร้างขึ้นจากการดูดซึมอาหารที่อุดมไปด้วยคอเลสเตอรอล อย่างเช่นอาหารประเภทเนื้อแดง เป็นต้น ถ้าร่างกายมี LDL สูง จะเสี่ยงต่อการเกิดโรคเส้นเลือดตีบตัน เพราะ LDL จะไปเกาะผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดตีบ และเสียความยืดหยุ่นของหลอดเลือด
3. ระดับ High Density Lipoprotein-Cholesterol (HDL-C) ค่าปกติ 40-60 มล./ดล.
High Density Lipoprotein-Cholesterol (HDL-C) แน่นอนว่า HDL ตรงข้ามกับ LDL เนื่องจาก HDL เป็นคอเลสเตอรอลชนิดที่ดี ทำหน้าที่จับไขมันคอเลสเตอรอลออกไปทำลายตับ ยิ่งมีไขมัน HDL สูงจะทำให้ลดความเสี่ยงการเป็นโรคหลอดเลือด

4. ระดับไตรกลีเซอร์ไรด์สูง(Triglyceride, TG): ค่าปกติต่ำกว่า 150 มล./ดล.
ไตรกลีเซอร์ไรด์เป็นไขมันชนิดหนึ่งที่ร่างกายสร้างขึ้นเองจากน้ำตาลและแป้ง หรือจากอาหารที่รับประทานเข้าไป มีประโยชน์ต่อร่างกายหลายอย่าง เช่น ให้พลังงาน, ช่วยดูดซึมวิตามิน เอ ดี อี เค, ช่วยให้ร่างกายอิ่มท้อง นอกจากนี้ ร่างกายยังเก็บสะสมไตรกลีเซอไรด์ไว้สำหรับให้พลังงานเมื่อมีความต้องการ การมีไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง หรือพบว่าไขมันในเลือดสูงในคนที่มีคอเลสเตอรอลสูงอยู่แล้ว เชื่อว่ามีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบมากขึ้น4
5. ระดับไขมันผิดปกติแบบใดแบบหนึ่งร่วมกัน2อย่างขึ้นไป
ไขมันในเลือดสูง เป็นเพราะอะไร?
ภาวะไขมันในเลือดสูงเกิดจากองค์ประกอบหลาย ๆ อย่าง ได้แก่ อาหาร, โรคต่าง ๆ รวมไปถึงปัจจัยอื่น ๆ ที่หลายคนอาจจะทำบ่อย ๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น สูบบหรี่ ไม่ออกกำลังกาย เป็นต้น รายละเอียดดังนี้-
อาหาร

- ไขมันอิ่มตัว - ไขมันอิ่มตัวสามารถเพิ่มระดับไขมันไม่ดี (LDL) ได้ อาหารที่มีไขมันอิ่มตัว เช่น ชีส, นม, เนย, สเต็ก, น้ำมันปาล์ม, น้ำมันมะพร้าว เป็นต้น
- ไขมันทรานส์ - การทานอาหารที่มีไขมันทรานส์มีผลเสียมากกว่าการทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว เพราะไขมันทรานส์จะเพิ่มระดับไขมันไม่ดี (LDL) และลดระดับไขมันดี (HDL) อาหารที่มีไขมันทรานส์ เช่น ของทอด, นมข้นหวาน, นมข้นจืด, ครีมเทียม, เบเกอร์รี่ต่าง ๆ เค้ก คุกกี้ โดนัท, พิซซ่า, ป๊อปคอร์น เป็นต้น
-
โรคทางการแพทย์

โรคบางชนิดก็ส่งผลให้ระดับคอเลสเตอรอลสูงขึ้นได้ เช่น
- โรคเบาหวาน
- ภาวะขาดไทรอยด์
- ภาวะเมแทบอลิกซินโดรม
- กลุ่มอาการคุชชิง
- ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ
- โรคไต
-
ปัจจัยอื่น ๆ

- ไม่ออกกำลังกาย - การออกกำลังกายจะช่วยเพิ่มไขมันดี (HDL) ให้กับร่างกายได้ ในขณะเดียวกัน การออกกำลังกายไม่เพียงพอ ก็เพิ่มไขมันไม่ดี (LDL) ได้เช่นกัน
- สูบบุหรี่ - การสูบบุหรี่สามารถเพิ่มไขมันไม่ดี (LDL) ในร่างกาย ทำให้เกิดคราบจุลินทรีย์ในหลอดเลือดแดง
- กรรมพันธุ์ - หากมีในครอบครัวเป็นคอเลสเตอรอลสูง คนอื่น ๆ ก็มีความเสี่ยงที่จะมีคอเลสเตอรอลสูงเช่นกัน
- ยาบางชนิด - ยาขับปัสสาวะสามารถเพิ่มระดับคอเลสเตอรอลได้
อาการแบบนี้ ไปตรวจไขมันในเลือดด่วน

การสังเกตว่าเรามีคอเลสเตอรอลสูงหรือไม่ ในระยะแรกเริ่มจะยังไม่แสดงอาการใด ๆ อาจมีอาการแสดงที่เป็นการเจ็บป่วยทั่วไป เช่น เหนื่อยล้า คลื่นไส้ มึนศีรษะ หรืออาการเจ็บหน้าอกข้างซ้าย เป็นต้น อาการจะปรากฏขึ้นหลังจากที่ในร่างกายมีระดับคอเลสเตอรอลสูงจนสร้างความเสียหายให้แก่ร่างกาย ดังนั้นจึงควรตรวจสุขภาพเป็นประจำ
ทำอย่างไรถึงจะไม่เป็นไขมันในเลือดสูง

- ควบคุมอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง เช่น ไขมันสัตว์ เครื่องในสัตว์ ไข่แดง อาหารทะเล หอยนางรม ปลาหมึก กุ้ง หนังเป็ด หนังไก่ มะพร้าว อาหารที่มีกะทิ หากมีระดับไตรกลีเซอไรด์สูงด้วย ควรระวังอาหารพวกแป้ง น้ำตาล เครื่องดื่มที่มีรสหวาน ผลไม้รสหวานจัด
- รับประทานอาหารประเภทเนื้อปลา เนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมัน นมพร่องมันเนย
- หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์
- ใช้น้ำมันพืชแทนน้ำมันจากสัตว์ในการปรุงอาหาร
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ควรทำต่อเนื่องสัปดาห์ละ 3 - 4 ครั้ง ครั้งละ 20 - 30 นาที
- งดสูบบุหรี่
- พบแพทย์เพื่อขอคำปรึกษา เพราะในบางกรณีอาจจะต้องใช้ยาช่วยปรับระดับไขมันในเลือดสูงควบคู่ไปด้วย
__________________________________________________
ขอบคุณข้อมูลจาก
- https://www.healthline.com/health/high-cholesterol/lipid-disorder
- https://www.paolohospital.com/th-TH/center/Article/Details/%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1-%E0%B8%AB%E0%B8%B1%E0%B8%A7%E0%B9%83%E0%B8%88/%E0%B9%84%E0%B8%82%E0%B8%A1%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%94%E0%B8%AA%E0%B8%B9%E0%B8%87--%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B8%A7%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B8%B3%E0%B8%AA%E0%B8%B9%E0%B9%88%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9E%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84
- http://www.ttmed.psu.ac.th/blog.php?p=185