กรมอนามัยแนะ ดื่มน้ำ 8 แก้วต่อวัน ป้องกันภาวะขาดน้ำในผู้สูงวัยได้

ภาวะขาดน้ำถึงแม้จะฟังดูไม่รุนแรงเท่าโรคอื่น ๆ ในผู้สูงอายุ เช่น โรคมะเร็ง โรคเกี่ยวกับกระดูก ฯลฯ แต่เชื่อหรือไม่ว่าภาวะขาดน้ำร้ายแรงกว่าที่คิด เพราะภาวะขาดน้ำส่งผลร้ายได้ถึงขั้นหัวใจล้มเหลวและไตวายได้ ซึ่งวัยที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดคือกลุ่มวัยผู้สูงอายุ ถึงระดับที่กรมอนามัยต้องออกมาเตือนถึงการระมัดระวังเรื่องภาวะขาดน้ำ ฝากครอบครัวหรือผู้ดูแลใส่ใจและกระตุ้นให้ผู้สูงอายุดื่มน้ำทุกชั่วโมง
ผู้สูงอายุดื่มน้ำอย่างถูกต้องแค่ครึ่งเดียวเท่านั้น!

จากการศึกษาโครงการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2545-2564) ระยะที่ 2 (พ.ศ.2550-2554) ของกระทรวงสาธารณะสุข พบว่า ร้อยละ 51.6 ของผู้สูงอายุ ดื่มน้ำสะอาดมากกว่า 8 แก้วต่อวัน ร้อยละ 40.4 ดื่มมากกว่า 8 แก้วเป็นบางครั้ง และร้อยละ 8.0 ไม่ดื่มน้ำ 8 แก้ว แสดงให้เห็นว่าผู้สูงอายุของประเทศไทย มีพฤติกรรมดื่มน้ำที่ถูกต้องเหมาะสม (มากกว่า 8 แก้ว) แค่เพียงครึ่งหนึ่งของผู้สูงอายุเท่านั้น ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมาก
ร่างกายและจิตใจส่งผลให้ดื่มน้ำไม่เพียงพอ

ร่างกายและจิตใจของมนุษย์มีความสัมพันธ์กันมาก การที่ผู้สูงวัยไม่อยากดื่มน้ำนั้นมีสาเหตุมาจากทั้ง 2 ปัจจัย ดังนี้
ปัจจัยด้านแรก ด้านร่างกาย เกิดจากผู้สูงอายุมีมวลกล้ามเนื้อที่น้อยลง ส่งผลให้น้ำในร่างกายผู้สูงอายุลดลง การตอบสนองต่อความอยากดื่มน้ำก็ลดลง นอกจากนี้ที่เป็นโรคประจำตัวอย่างเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง ต้องได้รับยาขับปัสสาวะ ทำให้น้ำในร่างกายน้อยลง ตลอดจนปัญหาช่องปากที่ทำให้ไม่อยากรับประทานอาหาร ปัญหาตาที่มองเห็นไม่ชัดเจนจึงไม่อยากไปหาน้ำดื่ม และผู้สูงอายุหลายคนมีอาการมือสั่นหยิบจับหรือจนทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ
ปัจจัยต่อมา ด้านจิตใจ ผู้สูงอายุรู้สึกว่าการเข้าห้องน้ำมีความยากลำบาก ไม่คล่องตัว ต้องพึ่งพาผู้ดูแล หรือผู้สูงอายุบางท่านก็ไม่มีผู้ดูแลช่วยเหลือ ด้วยความกังวลใจเหล่านี้จึงทำให้ผู้สูงอายุไม่ค่อยดื่มน้ำ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเข้าห้องน้ำ
กรมอนามัยเตือนผู้สูงอายุ

29 กรกฎาคม 2563 : นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า “ผู้สูงอายุกว่าร้อยละ 40 เป็นโรคเรื้อรัง อาทิ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง ซึ่งต้องได้รับยาขับปัสสาวะทำให้น้ำในร่างกายน้อยลง และปัญหาช่องปาก ทำให้ไม่อยากกินอาหาร ปัญหาด้านสายตา ทำให้มองเห็นไม่ชัดเจนจึงไม่อยากไปจัดหาน้ำดื่ม และที่สำคัญคือผู้สูงอายุที่มือสั่นหยิบจับหรือกำไม่ได้ จะไม่สามารถดื่มน้ำได้ด้วยตนเอง ผู้ดูแลจึงควรจัดหาน้ำให้ท่านดื่มวันละ 8 แก้ว และกระตุ้นให้ดื่มทุกชั่วโมง โดยให้ดื่มเครื่องดื่มที่ชอบ งดดื่มเครื่องดื่มที่มีรสหวานจัด จัดหาแก้วมีหูจับหรือสะดวกในการใช้ หรือให้ดูดจากหลอด และควรให้ดื่มน้ำช้า ๆ เพื่อป้องกันการสำลัก ส่วนการกินยาและอาหารให้ดื่มน้ำอย่างน้อย 1 แก้ว นอกจากนี้ ผู้สูงอายุควรเข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี หากพบโรคควรรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดสาเหตุและปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ”

ภาวะขาดน้ำ มีอาการเหล่านี้
- ชีพจรเร็วกว่า 120 ครั้งต่อนาที
- ความดันโลหิตต่ำขณะเปลี่ยนท่าทำให้วิงเวียนศีรษะ เป็นลมง่าย หมดสติ มีภาวะสับสน
- เยื่อบุปากแห้ง
- ความยืดหยุ่นของผิวหนังลดลงมาก
- ในระยะแรกมีปริมาณปัสสาวะปกติ เพราะไตไม่สามารถกักเก็บน้ำได้ในภาวะขาดน้ำ ทำให้ปริมาณปัสสาวะในระยะแรกของภาวะขาดน้ำไม่ลดลง
- ภาวะขาดน้ำจะแสดงอาการชัดเจนเมื่อเข้าสู่ระยะสุดท้าย ทำให้หัวใจล้มเหลวและไตวาย

วิธีแก้ภาวะขาดน้ำ
- ดื่มน้ำวันละ 8 แก้ว ดื่มสม่ำเสมอทุกชั่วโมง
- จัดหาเครื่องดื่มที่ผู้สูงอายุชอบ เช่น น้ำเปล่าเย็น ๆ หรือน้ำผัก น้ำผลไม้
- เลือกภาชนะที่ผู้สูงอายุใช้สะดวก เช่น แก้วแบบมีหูจับ หรือมีหลอดให้ผู้สูงอายุใช้
- จัดสถานที่ให้ผู้สูงอายุเคลื่อนตัวไปห้องน้ำได้อย่างสะดวก
- ผู้สูงอายุควรเข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี เพื่อตรวจเช็คอาการ
ขอบคุณข้อมูลจาก
- https://www.thaihealth.or.th/Content/52888-%E0%B9%81%E0%B8%99%E0%B8%B0%E0%B8%9C%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%AA%E0%B8%B9%E0%B8%87%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%B8%E0%B8%94%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B3%208%20%E0%B9%81%E0%B8%81%E0%B9%89%E0%B8%A7%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%99.html
- https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/891435
- https://multimedia.anamai.moph.go.th/help-knowledgs/8-cup/